โรคมะเร็งปอด
ในประเทศไทยมะเร็งปอดพบเป็นอันดับที่ 2 ในเพศชาย รองจากมะเร็งสำไส้ใหญ่ และพบได้เป็นอันดับที่ 4 ในเพศหญิงรองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ โดยมีผู้ป่วย 2 ใน 3 ที่มักเป็นในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี
อาการของโรคมะเร็งปอด
อาการของโรคมะเร็งปอดอาจถูกเข้าใจผิดกับบางโรค เช่น การติดเชื้อ หรือเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานๆ โดยอาการแสดงที่พบส่วนมากมักจะเกิดขึ้นเมื่อโรคดำเนินไปถึงระยะลุกลามแล้ว ซึ่งอาการที่พบบ่อยคือ
- ไอเรื้อรัง
- ไอพร้อมมีเลือดออกมา
- เจ็บหน้าอกและกระดูก
- หายใจได้สั้นๆ
- น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้
- เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
- เสียงแหบพร่า
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด
1. การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่: ประมาณร้อยละ 85-90 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเกิดจากปัจจัยนี้
2. อายุ ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดได้รับการวินิจฉัยเมื่อมีอายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไป (โดยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี)
3. การสัมผัสสารก่อมะเร็ง ยกตัวอย่างเช่น การหายใจเอาแร่ใยหินหรือควันจากท่อไอเสียเข้าสู่ร่างกาย การหายใจหรือบริโภคสารเคมีบางชนิด (อาเซนิค ถ่านหิน)
4. บุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด
5. มลภาวะทางอากาศ ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเกิดจากปัจจัยนี้
การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer, SCLC)
- การรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นการรักษาที่จำเป็นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆรวดเร็วมาก
- ในผู้ป่วยที่โรคยังไม่แพร่กระจาย การรักษาด้วยเคมีบำบัดควบคู่กับการฉายแสงจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว
การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non-small cell lung cancer, NSCLC)
- การรักษาจะขึ้นกับชนิดของเนื้อเยื่อมะเร็ง ระยะของโรค และระดับความแข็งแรงของผู้ป่วย
- ในผู้ป่วยที่ระยะการดำเนินไปของโรคยังไม่มากและไม่มีการแพร่กระจายของโรค การรักษามักทำโดยการผ่าตัด การฉายแสงหรือเคมีบำบัด
- ในผู้ป่วยที่มะเร็งปอดอยู่ในระยะลุกลาม มักจะได้รับการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนควรได้รับการรักษาด้วยการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy) และผู้ป่วยที่ไม่พบการกลายพันธุ์ของยีนควรได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI): เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
- การตรวจด้วยเครื่อง PET scan (positron emission tomography scan): เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 033-266150
โรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็ง วิภารามอมตะนคร
ตั้งอยู่ที่ 700/134 หมู่ที่ 1 ตำบลครองตำหรุ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20000
Facebook: โรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็ง วิภารามอมตะนคร